ข้อมูลเทศบาล

ประวัติตำบลวังขนาย

        จากข้อมูลที่ได้รับจากการบอกเล่าจากท่านหลวงพ่อ มหาสมพงษ์ พุทฺธสโร ปัจจุบัน (พระครูกาญจนสุตาคม) เจ้าอาวาส วัดวังขนายทายิการาม ซึ่งเป็นวัดประจำตำบลวังขนาย กล่าวว่า คำว่า "วังขนาย" เป็นชื่อ ของงาช้างงาหนึ่งที่ชาวบ้านพบตกอยู่ในหนองน้ำ บริเวณ หลังโรงเรียน วัดวังขนายฯ ในปัจจุบันนี้ (หนองน้ำนั้นได้ เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นบ่อ อยู่หลังวัด) คือบ่อมรกตในปจุบัน

        ชาวบ้านจึงเอานิมิตนี้มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านมีตำนาน เล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนบริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็น ป่าไม้รวก ป่าไผ่ ติดต่อกันไป จนถึงเขตอำเภอพนมทวน และมีช้างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และในบริเวณที่ตั้งของตำบลวังขนายในปัจจุบันนี้ในสมัยก่อนมีโขลงช้างโขลงหนึ่งซึ่งมีช้างตัวเมียเป็นหัวหน้าโขลงและที่สำคัญคือช้างตัวนี้มีงา ซึ่งโดยปกติแล้วช้างตัวเมียจะไม่มีงา

         วันหนึ่งมีช้างตัวผู้ ซึ่งไม่ทราบโดยเหตุผลแน่ชัดว่ามาติดพันธุ์ช้างตัวเมียในโขลงนี้หรือมาแย่งอาหาร จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันขึ้นระหว่างช้างตัวผู้กับช้างตัวเมียหัวหน้าโขลง บริเวณหนองน้ำ สู้กันจนกระทั่งช้างตัวเมียซึ่งเป็นหัวหน้าโขลงนั้นงาหลุดและตายอยู่ในหนองน้ำ ดังนั้นคำว่า"วัง" จึงน่าจะมาจาก "หนองน้ำ" "ขนาย"หมายถึง "งาช้างตัวเมีย" นั่นเอง

          ตำบลวังขนายเคยเจริญสูงสุดถึงขั้นได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น"อำเภอวังขนาย" เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๑ มีที่ตั้งของที่ว่าการอำเภออยู่ใกล้กับวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการย้ายที่ว่าการอำเภอท่าม่วงมาตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่าม่วง พระวรภักดิ์พิบูลย์ นายอำเภอสมัยนั้น จึงขอเปลี่ยนชื่อจากอำเภอวังขนาย เป็นอำเภอท่าม่วงตั้งแต่นั้นมา ทำให้ชื่อวังขนายมีฐานะเป็นเพียงตำบลหนึ่งในอำเภอท่าม่วงเท่านั้น นายน้อย คชวัตร (เป็นบิดาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ) ได้เป็นปลัดขวาอำเภอวังขนายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

คำขวัญเทศบาลตำบลวังขนาย

นมัสการหลวงพ่อสรรเพชร

ทีเด็ดบ่อน้ำแร่  เก่าแก่อำเภอวังขนาย

ต้นสายน้ำแม่กลอง  ขุมทองการเกษตร

แหล่งเขตอุตสาหกรรม

 

วิสัยทัศน์

“ส่งเสริมการเรียนรู้ ควบคู่คุณธรรม นำสู่การพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจพอเพียง

เสียงประชาเป็นใหญ่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พรั่งพร้อมวัฒนธรรม ก้าวนำสาธารณูปโภค”

ยุทธศาสตร์

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคนและสังคม 

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเมืองและการบริหาร

เป้าประสงค์

  1. มีระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ได้มาตรฐาน และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
  2. รองรับการขยายตัวของเมืองและการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต
  3. สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนและของจังหวัดกาญจนบุรีที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ
  4. ครัวเรือนเกษตรกรที่มีการทำการเกษตรโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางวิชาการเกษตรสมัยใหม่
  5. ประชาชนมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น
  6. พัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการและการสงเคราะห์สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
  7. ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
  8. ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบรูณ์
  9. ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรมและเห็นคุณค่าของการเล่นกีฬา ลด ละ เลิกจากอบายมุขและยาเสพติด มีสุขภาพอนามัยที่สมบรูณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์
  10. ประชาชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และช่วยกันบำรุงรักษาเพื่อให้ชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาดตา
  11. ชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาดตา
  12. การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

 

ชื่อหมู่บ้าน ครัวเรือน ชาย หญิง รวม -
หมู่ที่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้ 0 671 723 1,394 คน
หมู่ที่ 2 บ้านวังขนาย 0 535 544 1,079 คน
หมู่ที่ 3 บ้านมะกอกหมู่ 3,670 1,214 1,419 2,633 คน
หมู่ที่ 4 บ้านหนองตาบ่ง 0 476 502 978 คน
หมู่ที่ 5 บ้านหลังอำเภอ 0 407 434 841 คน
หมู่ที่ 6 บ้านหลังวัด 0 499 561 1,060 คน
หมู่ที่ 7 บ้านริมน้ำ 0 359 379 738 คน
ข้อมูลรวม : คน

สภาพทั่วไปและลักษณะภูมิประเทศ

ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล

     หลักเขตที่ 1 : ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางทางรถไฟสายธนบุรี–น้ำตก หลัก กม. ที่ 100+700 ที่บริเวณพิกัด NR 712450

ด้านทิศเหนือ   

     จากหลักเขตที่ 1 เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตที่ดินของราษฎร ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองชลประทานสาย 1 L ถึงหลักเขตที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนลูกรังเลียบคลองส่งน้ำด้านเหนือ บริเวณพิกัด NR 716465 รวมระยะทางประมาณ 2,000 เมตร

     จากหลักเขตที่ 2 เป็นเส้นเลียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเขตที่ดินของราษฎร ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ถึงหลักเขตที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางถนนลูกรังเชื่อมระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณพิกัด  NR 741476 รวมระยะทางประมาณ 2,000 เมตร

     จากหลักเขตที่ 3 เป็นเส้นเลียบไปทางทิศใต้ตามแนวเขตที่ดินของราษฎร ข้ามคลองส่งน้ำชลประทานสาย 1L ถึงหลักเขตที่ 4 บริเวณข้างคลองส่งน้ำด้านทิศใต้ที่พิกัด NR 734449 รวมระยะทางประมาณ 2,700 เมตร

     จากหลักเขตที่ 4 เป็นเส้นเลียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงหลักเขตที่ 5 บริเวณ ข้างทางรถไฟสายธนบุรี – น้ำตก ที่หลัก กม. 99+110 ที่บริเวณพิกัด NR 736447 รวมระยะทางประมาณ 300 เมตร รวมระยะทางด้านทิศเหนือ ประมาณ 7,000 เมตร

ทิศตะวันออก

     จากหลักเขตที่ 5 เป็นเส้นเลียบข้ามถนนทางหลวงแผ่นดินสายแสงชูโต หมายเลข 323 สายใหม่ ไปทางทิศใต้ ถึงหลักเขตที่ 6 บริเวณหลัก กม.ที่ 110+200 ที่พิกัด NR 735446 รวมระยะทางประมาณ 300 เมตร

     จากหลักเขตที่ 6 เป็นเส้นเลียบไปทางทิศใต้ ตามแนวเขตที่ดินราษฎรและเป็นเส้นแบ่งแนวเขตระหว่างตำบลวังขนาย กับตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ถึงหลักเขตที่ 7 บริเวณหลัก กม. ที่ 110+400 ที่พิกัด NR 732423 รวมระยะทางประมาณ 2,200 เมตร

     จากหลักเขตที่ 7 เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตที่ดินราษฎรและเป็นเส้นแบ่งแนวเขตระหว่างตำบลวัง-ขนายกับตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 8 กึ่งกลางแม่น้ำแม่กลอง ที่บริเวณพิกัด NR 7325387 รวมระยะทางประมาณ 3,500 เมตร

     รวมระยะทาง ด้านทิศตะวันออก ประมาณ 6,000 เมตร

ทิศใต้

     จากหลักเขตที่ 8 เป็นเส้นเลียบกึ่งกลางลำน้ำของแม่น้ำแม่กลองและเป็นเส้นแบ่งแนวเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลบ้านใหม่ อำเภอท่าม่วงจังหวัดกาญจนบุรีไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 9 ที่กึ่งกลางแม่น้ำแม่กลอง บริเวณพิกัด NR691420 รวมระยะทางประมาณ 6,500 เมตร

     รวมระยะทาง ด้านทิศใต้ ประมาณ 6,500 เมตร

ทิศตะวันตก

     จากหลักเขตที่ 9 เป็นเส้นเลียบไปตามแนวเขตที่ราษฎรและเป็นเส้นแบ่งแนวเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 10 ริมถนนถนนแสงชูโต (สายเก่า) ที่หลัก กม.114+200 บริเวณพิกัด NR 696431 ระยะทาง ประมาณ 1,200 เมตร

     จากหลักเขตที่ 10 เป็นเส้นเลียบตามแนวรั้วโรงเรียนท่าม่วงราษฎร์บำรุงไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวกึ่งกลางลาดยางเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วงจังหวัดกาญจนบุรี ถึงหลักเขตที่ 11 ริมถนนแสงชูโต (สายใหม่) ที่หลัก กม. 111+750 บริเวณพิกัด NR 712449 รวมระยะทางประมาณ 2,300 เมตร

     จากหลักเขตที่ 11 เป็นเส้นเลียบไปตามแนวเขตที่ดินราษฎรและเป็นเส้นแบ่งแนวเขตระหว่างตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กับตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ไปทางด้านทิศเหนือ ถึงบริเวณกึ่งกลางทางรถไฟ ธนบุรี-น้ำตก ที่หลัก กม.100+700 จนบรรจบหลักเขต ที่ 1 รวมระยะทาง ประมาณ 200 เมตร

     รวมระยะทางด้านทิศตะวันตก ประมาณ 3,700 เมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

     ลักษณะภูมิประเทศในเขตตำบลวังขนายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเนื้อที่ทางตอนใต้ของตำบล

ลักษณะภูมิอากาศ

     ตำบลวังขนายเป็นเขตร้อนชื้น มีสภาพภูมิอากาศตลอดปีอยู่ที่อุณหภูมิระหว่าง 25 องศาเซลเซียส ถึง 40 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

ลักษณะของดิน

     ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายประมาณ  ๗๕% ดินลูกรังประมาณ ๑๕ % ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินเหนียวประมาณ ๑๐ % 

ลักษณะของแหล่งน้ำ

     มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติไหลผ่าน 1 แห่ง คือ แม่น้ำแม่กลอง

ลักษณะของไม้และป่าไม้

     ในตำบลวังขนายไม่อยู่ในเขตป่าไม้ แต่มีต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูก เช่น ต้นสัก ต้นประดู่ ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ฯลฯ

การเมืองการปกครอง

         เทศบาลตำบลวังขนาย ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเทศบาลตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน มีพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร หรือ 11,875 ไร่ เป็น 1 ใน 13 ตำบลของอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอท่าม่วง และอยู่ห่างจากอำเภอท่าม่วง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 เดิม (ถนนแสงชูโต) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

         เขตการปกครอง  มีจำนวนหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลวังขนายทั้งสิ้น จำนวน 7 หมู่บ้าน ได้แก่    

         1. บ้านศาลเจ้าโพรงไม้   หมู่ 1
         2. บ้านวังขนาย             หมู่ 2
         3. บ้านมะกอกหมู่           หมู่ 3
         4. บ้านหนองตาบ่ง         หมู่ 4
         5. บ้านหลังอำเภอ          หมู่ 5
         6. บ้านหลังวัด               หมู่ 6
         7. บ้านริมน้ำ                  หมู่ 7

การเลือกตั้ง

         เทศบาลตำบลวังขนาย มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีตำบลวังขนาย ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2555 แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 2 เขต คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วย หมู่ที่ 1, 2, 7 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วย หมู่ที่ 3, 4, 5, 6 มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรีตำบลวังขนาย

 

สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

สภาพทางเศรษฐกิจ

การเกษตร

     ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 19.96 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ได้แก่ การปลูกคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ผักกาดขาว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน อ้อย ฯลฯ

การประมง

     - การเลี้ยงปลาในกระชัง หมู่ 2

การปศุสัตว์

     - การเลี้ยงสุกร หมู่ 1 – 7

     - การเลี้ยงไก่ไข่ หมู่ 5

การบริการ

     - โรงแรม   จำนวน 4 แห่ง

     - ร้านเกม   จำนวน 1 แห่ง

     - ร้านเสริมสวย   จำนวน 6  แห่ง

การท่องเที่ยว          

     - แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/สุขภาพ 1 แห่ง ได้แก่ บ่อน้ำแร่วัดวังขนายทายิการาม       

อุตสาหกรรม

     1. โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เงินลงทุน 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 8 แห่ง           

          - บริษัทแสงโสม จำกัด                           ตั้งอยู่ หมู่ 7 บ้านริมน้ำ

          - บริษัทกาญจนสิงขร จำกัด                     ตั้งอยู่ หมู่ 7 บ้านริมน้ำ

          - บริษัทซีเอ็นทีไวน์ & ลิเคอร์ จำกัด           ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด                  ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทไทยซานมิเกลลิเคอร์ จำกัด            ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทซีซีเอ็มสปิริต จำกัด                      ตั้งอยู่ ม.1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทศรีฟ้าเว้นฟู๊ด จำกัด                       ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอนเนอร์ยี่ จำกัด    ตั้งอยู่ หมู่ 7 บ้านริมน้ำ

     2. โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง เงินลงทุน 10 - 100 ล้านบาท หรือมีคนงานตั้งแต่ 10-40 คนขึ้นไป จำนวน 7 แห่ง

          - บริษัท ปภพ รีนิวเอเบิล จำกัด                  ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทสามัคคีพัฒนา จำกัด                      ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - หจก. สัญญาการเกษตร                          ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - บริษัทกิจเจริญอุตสาหกรรมการทอ จำกัด    ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - บริษัทยงสวัสดิ์ คอนกรีต จำกัด                 ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - หจก. ค็อกพิทเจริญภัณฑ์                        ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - บริษัทไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด          ตั้งอยู่ หมู่ 7 บ้านริมน้ำ

     3. โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท หรือมีคนงานต่ำกว่า 10 คน จำนวน 8 แห่ง        

          - โรงปุ๋ยเจริญรุ่งเรือง                                 ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - หจก. สยามกาญจน์โปรดักส์                      ตั้งอยู่ หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าโพรงไม้

          - บริษัทศรีรุ่งเรือง จำกัด                             ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านวังขนาย

          - บริษัทไทยรุ่งเรืองอาหารสัตว์ จำกัด             ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านวังขนาย

          - บริษัทปุ๋ยหมักแผ่นดินทอง จำกัด                ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านวังขนาย

          - บริษัทนำสวรรค์ จำกัด                              ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านวังขนาย

          - ประนอม ทำวงกบประตู หน้าต่างไม้             ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านมะกอกหมู่

          - ร้านตั้งเง็กเซ้ง                                        ตั้งอยู่ หมู่ 6 บ้านหลังวัด      

การพาณิชย์และกลุ่มอาชีพ

     - สถานีบริการน้ำมัน  4   แห่ง

     - ร้านค้าทั่วไป  40  แห่ง (เป็นร้านค้าที่เก็บข้อมูลจากการชำระภาษีป้าย)            

     - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนวดแผนไทย

     - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านมะกอกหมู่

     - กลุ่มแม่บ้านหนองตาบ่งร่วมใจ

     - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนขนมไทย

แรงงาน

     ตำบลวังขนายเป็นพื้นที่กึ่งเกษตรกรรมกึ่งอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ ร้อยละ 63.3 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 19.96 ประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ 12.23 ประกอบอาชีพรับราชการและอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 4.11

สภาพทางสังคม

มวลชนจัดตั้ง     มีทั้งสิ้น  7  กลุ่ม   ได้แก่

     1.  กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา  (กลุ่มแม่บ้าน)                 

     2.  กลุ่มพ่อบ้านวังขนาย

     3.  กลุ่มต้นกุ่มสัมพันธ์

     4.  กลุ่มมิตรสัมพันธ์

     5.  กลุ่มวังขนายสงเคราะห์

     6.  กลุ่มสตรีร่วมใจ

     7.  สมาคมผู้ปกครองและศิษย์เก่าโรงเรียนวัดวังขนายทายิการาม

กลุ่มที่จัดตั้งโดยส่วนราชการ  ได้แก่

     1.  วิสาหกิจชุมชนนวดแผนไทย

     2กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน (อสม.)

     3.  วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านมะกอกหมู่

     4.  กลุ่มแม่บ้านหนองตาบ่งร่วมใจ

     5.  วิสาหกิจชุมชนเรือนขนมไทย

     6.  กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลวังขนาย     

     7. ชมรมผู้สูงอายุตำบลวังขนาย

     8. กองทุนหมู่บ้าน

อาชญากรรม             

     จากรายงานสถิติคดีอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ที่เกิดขึ้นในเขตตำบลวังขนาย ปี 2561 พบว่า

คดีลักทรัพย์

     คดีเกี่ยวกับลักทรัพย์มีการลักทรัพย์เกิดขึ้น 4 ราย

     - ม.1 เครื่องมือการเกษตร (ปั๊มน้ำ)

     - ม.4 ลักทรัพย์เครื่องมือช่างก่อสร้าง

     - ม.3, ม.7 ลักพระเครื่อง

คดียาเสพติด

     - คดียาเสพติดจับได้กลุ่มผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย คดียาเสพติดลดลงมาก

ปัญหาที่พบ

​     - ปัญหาที่พบกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบมั่วสุมรวมถึงที่จุดชมวิวถนนริมน้ำ ม.2 ต.วังขนาย

​     - ผู้ร้องเรียนผู้ชอบจอดรถบรรทุกบังทางเข้า-ออกหมู่บ้านเอื้ออาทร

การสังคมสงเคราะห์

     - การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากไร้/ผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการ

     - การสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากไร้

 

สภาพทางการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

การศึกษา

     - โรงเรียนระดับอนุบาล, ศูนย์เด็กเล็ก รัฐบาล จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังขนาย

     - โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

         1. โรงเรียนวัดวังขนายทายิการาม  

         2. โรงเรียนบ้านมะกอกหมู่

         3. โรงเรียนบ้านหนองตาบ่ง      

     - วิทยาลัย  รัฐบาล  จำนวน 1 แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี

        สังกัดเอกชน  จำนวน 1 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจกาญจนบุรี

     - ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลวังขนาย จำนวน 1 แห่ง

     - ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 2 แห่ง คือ หมู่ 1, 2

ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

การนับถือศาสนา

     - ประชากรร้อยละ 99 นับถือศาสนาพุทธ และร้อยละ 1 นับถือศาสนาอื่น

     - มีสถาบันทางศาสนา จำนวน 1 แห่ง คือ วัดวังขนายทายิการาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2

ประเพณีและงานประจำปี

     - ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีแห่ปลา พิธีรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ฯลฯ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น

    ภูมิปัญญาท้องถิ่น

     1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ  (ความชำนาญนวดแผนไทย)

         1. นายสัมฤทธิ์    สภาพักตร์    หมู่ 1

         2. นางอำพร      วิชาพร         หมู่ 2

     2. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทย (การกวาดยา)

         - นายเมือง          โฉมงาม     หมู่ 2

     3. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแสดง (ตีกลองยาว)

         - นายบุญช่วย     คงไพร         หมู่ 7

     4. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานฝีมือ (การทำบายศรี)

         - นางอ่อน  เนยขำ                หมู่ 1

     5. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักรสาน  (การถักแห)

         - นายวันชัย       ค้ำจุน           หมู่ 2

     6. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านช่างฝีมือ

         1. นายพูนศักดิ์   อ่อนยิ้ม        หมู่ 1    (ผลิตภัณฑ์ทองเหลือง,ผลิตพระพุทธรูป)

         2. นายธนา        ธีระวิทย์       หมู่ 2    (การทำอิฐบล็อกประสาน)

     7. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำขนมไทย

         - นางลำพา พุ่มราตรี              หมู่ 5

     ภาษาถิ่น

     - ไม่มีภาษาถิ่น ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

     - ผลิตภัณฑ์ตะกร้าสาน

     - ผลิตภัณฑ์งูดูด (รักษาอาการนิ้วล็อก)

     - ผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมไล่ยุง

     - ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน (น้ำหมักชีวภาพ)

การบริการพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ

การบริการพื้นที่

การคมนาคมขนส่ง

     ตำบลวังขนายมีเส้นทางคมนาคมสายหลัก คือ สายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 (ถนนแสงชูโต) ทั้งสายเก่าและสายใหม่ และมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดที่สามารถใช้งานได้ดีทุกฤดูกาล

     ถนน : ภายในเขตเทศบาลตำบลวังขนาย มีถนนรวมทั้งสิ้น 131 สาย เป็นถนนลูกรัง 39 สาย ระยะทาง 15,872 เมตร ถนนลาดยาง 82 สาย ระยะทาง 42,364 เมตร และถนน คสล. 10 สาย ระยะทาง 2,898 เมตร

การไฟฟ้า

     - ประชาชนได้รับบริการไฟฟ้าส่องสว่างจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ได้รับบริการไฟฟ้า 100 % ของพื้นที่ทั้งหมด

การประปา

     - ระบบประปาหมู่บ้านแบบผิวดิน   จำนวน 1 แห่ง คือ หมู่ 2

     - ระบบประปาหมู่บ้านแบบบาดาล จำนวน 3 แห่ง คือ หมู่ 1, 6, 7

     - ขยายเขตบริการระบบประปาภูมิภาคให้กับหมู่บ้านที่ประสบปัญหาการบริการระบบประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอ ได้แก่ หมู่ 1, 2, 5, 6, 7

โทรศัพท์

     - ทุกหมู่บ้านใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนใหญ่

     - มีหอกระจายข่าว จำนวน 2 แห่ง คือ หมู่ 4,6

     - มีเสียงตามสาย   จำนวน 5 แห่ง คือ หมู่ 1, 2, 3, 5, 7

     - มีหอเสียงไร้สาย จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักงานเทศบาลตำบลวังขนาย

     - มีสถานีวิทยุชุมชน คลื่น 90.60 MHz จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ หมู่ 6

ไปรษณีย์หรือการสื่อสารหรือขนส่ง และวัสดุ ครุภัณฑ์

     - ที่ทำการไปรษณีย์ที่ใกล้ที่สุด คือ ไปรษณีย์อำเภอท่าม่วง ตั้งอยู่ ศูนย์ราชการอำเภอ ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตำบลวังขนาย ประมาณ 2 กิโลเมตร

สาธารณสุข

     - โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล    จำนวน 1 แห่ง 

     - ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน    จำนวน 7 แห่ง

     - อัตราการมีและใช้ส้วมราดน้ำ มี 100 %

ทรัพยากรธรรมชาติ

น้ำ  

     แหล่งน้ำธรรมชาติ

     - แม่น้ำ 1 แห่ง (แม่น้ำแม่กลอง)

     แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น

     - คลองชลประทาน 1 สาย

     - ระบบประปาหมู่บ้าน  3 แห่ง

     - บ่อบาดาล 8 แห่ง

ป่าไม้

     - ในเขตพื้นที่ไม่อยู่ในเขตป่าไม้

ภูเขา

     - ในเขตพื้นที่ไม่มีภูเขา

คุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ

     แม่น้ำแม่กลอง เป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตำบลวังขนาย คุณภาพแม่น้ำแม่กลองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน เกษตรกรรม การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรม เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ในอนาคตได้